หากพูดถึงพื้นที่พักผ่อนในส่วนของบ้านที่ใครหลายคนชื่นชอบเป็นอย่างมาก ก็ต้องยกให้เป็น ระเบียง เพราะเป็นมุมที่สวยงาม พักผ่อนได้สบายๆ และที่สำคัญสามารถมองเห็นวิวต่างๆของธรรมชาติได้เป็นอย่างดี ในวันนี้เราจึงได้นำไอเดียตัวอย่างการสร้างระเบียงด้วยตนเอง ในงบหลักหมื่น ที่บอกได้คำเดียวว่าสวยมาก
แชร์ประสบการณ์ สร้างระเบียงบ้านเองคนเดียว ใช้เวลาวันหยุด 15 วัน งบ 38,000 บาท
ต้องขอบอกก่อนนะครับว่าผมไม่ได้เป็นช่าง วิธีการหรือฝีมือการทำในครั้งนี้อาจจะไม่ดีหรือผิดขั้นตอนไม่เหมาะสม ยังไงช่วยแนะนำ หรือเลือกนำส่วนที่เหมาะสมไปใช้ไปปรับปรุงนะครับ
วันนี้ผมก็มีประสบการณ์การปรับปรุงบ้านมือสองของผมมาแชร์ ต้องบอกเลยครับว่าโครงการนี้ ใหญ่กว่า เหนื่อยมาก ใช้งบมากกว่าโครงการที่ผ่านมาของผมเลยครับ แต่ต้องบอกว่าทำเองก็ประหยัดกว่าแน่ๆครับ ซึ่งในวันนี้ผมจะมาแชร์ก็คือ การสร้างระเบียงหน้าบ้าน พร้อมด้วยหลังคาเมทัลชีท งบประมาณที่ผมใช้ไม่เกิน 38,000 บาทครับ
ต้องขออนุญาติเล่าก่อนนะครับว่าผมซื้อบ้านมือสองมา ส่วนของตัวบ้านนั้น สามารถเช็ดถู แล้วย้ายของเข้ามาอยู่ได้ครับ
แต่บริเวณรอบๆบ้านนั้นต้องมีเรื่องให้ผมต้องปรับปรุงอีกเยอะเลย และอย่างที่ผมได้บอกไปว่า ผมมีงบประมาณที่จำกัดในการที่จะปรับปรุงบ้าน เลยอาศัยเวลาวันหยุดเสาร์-อาทิยต์ มาลงมือทำเองครับ
ผมไม่มีทักษะด้านงานช่าง หรือมีประสบการณ์รับเหมาอะไรนะครับ ผมเป็นพนักงานประจำและทำงานอยู่ในบริษัทเอกชนทั่วๆไปครับ แต่มีความชอบเรื่องงานเกี่ยวกับการสร้างการทำเองครับ เลยหาข้อมูลต่างๆแล้วเอามาประยุกต์ทำในแบบฉบับของผมเองครับ
เหตุจูงใจที่ให้ผมต้องสร้างระเบียงตรงนี้ขึ้นมา คือ เนื่องด้วยหน้าบ้านของผมจะรับแสงแดดตั้งแต่ช่วงเช้าจนถึงช่วงบ่ายแก่ๆ พูดง่ายๆว่ารับแสงแดดทั้งวันเลยครับ ทำให้เกิดความร้อน และในตัวบ้านก็ร้อนตามไปด้วยครับ
ผมจึงคิดที่อยากจะทำระเบียงและหลังคาเมทัลชีทมาด้วยเลยครับ โดยระเบียงก็เป็นการเพิ่มพื้นที่ใช้สอย พื้นที่สำหรับทำกิจกรรมต่างในครอบครัวเราได้ ส่วนหลังคาเมทัลชีทเราก็สามารถช่วยลดความร้อนได้ตลอดทั้งวันครับ
เกริ่นไปนาน เรามาเริ่มกันเลยนะครับ
สิ่งแรกที่ทำคือวัดขนาดของพื้นที่ที่เราจะทำครับ ซึ่งขนาดที่ผมวัดได้ หน้ากว้าง 5.5 เมตร ยาวออกไป 4.5 เมตรครับ
เมื่อได้แนวของเส้นเอ็นแล้ว ผมก็เริ่มออกแรงกับงานด่านแรกของผมครับ นั้นก็คือการขุดดินโดยใช้แค่จอบและเสียม ที่ผมมีครับ
ต้องบอกเลยว่านี้คือบททดสอบแรกสุดของเราเลยครับในเรื่องของการที่จะประหยัดเงินครับ ถ้าเราผ่านจุดนี้ไปได้ จะทำให้เราประหยัดเงินทุนไปได้เยอะเลยครับ
แต่ขอแนะนำสำหรับใครที่มีงบและไม่อยากเสียเวลากับจุดนี้นะครับผมแนะนำจ้างรถแมคโครน้อยมาขุดให้ก็ได้นะครับ จะช่วยลดระยะเวลาของเราและตัวเราเองก็ไม่เหนื่อยมากด้วยครับ
แต่สำหรับผมคิดสะว่าเป็นการออกกำลังไปในตัวด้วยครับ งานนี้เสียเวลาขุดอยู่ 2 วันนะครับ ทั้งหมดก็ 9 หลุ่ม ซึ่งจะเป็นหลุมใหญ่ 6 หลุม และหลุมเล็ก 3หลุมครับ
จากนั้นผมก็เริ่มไปตัดเหล็กเส้นเพื่อทำฐานแผ่ ซึ่งเป็นระบบฐานรากที่ผมจะใช้ในงานนี้ครับ คือผมจะสานตะก้อเหล็กเพื่อไปวางที่ก้นหลุมและตั้งเสาขึ้นมาครับ แต่ผมก็จะแยกกันระหว่างเสาของพื้นระเบียงกับเสาของหลังคาเมทัลชีทนะครับ เดี๋ยวเราดูไปพร้อมๆกัน
จากรูปผมก็จะตัดเหล็กตามขนาดที่ผมออกแบบไว้นั้นก็คือ 80เซน แล้วจะดัดเหล็กเป็นตัวยูข้างละ10เซนครับ โดยเหล้กที่ผมใช้เป็นเหล็กข้ออ้อย 4 หุน
เมื่อตัดและดักเหล้กได้ครบตามจำนวนผมก็มาเริ่มนั่งสานตะก้อเหล็กครับตามรูปเลย อย่าลืมดึงลวดให้แน่นด้วยนะครับ เพราะตะก้อนี้จะเป็นส่วนของฐานลากที่เราจะใช้ในงานนี้ครับ
เมื่อได้ตะก้อเหล็กจนครบ ผมก็เดินหน้าทำเสาเหล็กสำหรับพื้นระเบียงต่อเลยครับ โดยผมจะสานคานเสาเหล็กขนาด 1 เมตรทั้งหมด 6 ต้น และ 50 เซน 3 ต้น
โดยเหล็กที่ใช้ก็ ข้ออ้อย 4 หุน ส่วนปลอกเหล็กก็ซื้อสำเร็จเอาเลยนะครับ ไม่ต้องไปเสียเวลาดัดเพราะราคาไม่แพง
ต่อมาผมก็มาทำแผ่นเพลทสำหรับเสาหลังคาเมทัลชีท ซึ่งผมออกแบบไว้ว่าจะใช้เสาเหล็ก 4 นิ้ว หนา 2.5 มิล เป็นเสาสำหรับหลังคาเมทัลชีท โดยการที่ผมจะฝั่งเสาหลังคาคู่ไปกับเสาพื้นระเบียง 4 จุดตรงตำแหน่งของหัวมุมของหลุมที่เราขุดไว้ครับ
ซึ่งการทำแผ่นเพลทก็ไม่ยากครับ โดยใช้เพลทที่ซื้อมาสำเร็จรูปเจาะรู4มุมมาพร้อม จากนั้นซื้อแท่นเกลียวขนาดพอดีกับรูที่เพลท แล้วตัดให้ขนาดเท่าๆกัน แล้วใส่น็อตทั้งสองฝั่ง ทั้งหมด4จุดต่อเพลท 1 อัน และส่วนของเสาก็เชื่อมติดกับเพลทเช่นเดียวกัน ก็จะได้ตามภาพด้านบนครับ
จากนั้นผมก็เริ่มมาต่อที่งานวางตะก้อและเสา โดยผมจะเททรายหยาบลงไปที่ก้นหลุมก่อน แล้วใช้คอนกรีตผสม เทรีนที่ก้นหลุมเพื่อเป็นการปรับระดับก่อนที่จะวางตะก้อและเสา
เมื่อพื้นปูนก้นหลุมเริ่มแห้งผมก็เริ่มวางตะก้อและเสาลงไปที่แต่ละหลุม โดยวางให้ตรงกลางตำแหน่งของเส้นเอ็นที่เราวางไว้
จากนั้นผมผสมปูนคอนกรีต 1:2:4 เทลงไปที่หลุม ในส่วนหลุมที่เป็นหัวมุมผมก็จะใส่เพลทที่ทำไว้สำหรับหลังคาเมทัลชีทลงไปด้วยตามรูป
เมื่อปูนเริ่มแห้งแล้วผมก็เริมเอาเสาทั้ง4ต้นที่ถูกเชื่อมด้วยเพลส ไปวางที่หลุมทั้ง 4 ที่ได้บอกไว้ก่อนหน้านี้ครับ แล้วยึดด้วยน็อตให้แน่น จากนั้นเราจะได้เสาของหลังคาเมทัลชีทมาทั้ง 4 ต้น
ผมเริ่มก่อทำบล๊อคสำหรับเทเสา ซึ่งหลุมที่อยู่ตรงมุมทั้ง 4 ผมจะก่อบล๊อคครอบทั้งเสาพื้นและเสาหลังคาเมทัลชีทเลยครับ
เพราะผมจะเทปูนทับลงไปพร้อมกันเลยครับส่วนเสาอื่นๆผมก็จะหาวัสดุต่างๆมาทำบล๊อคเสาครับ เช่นแผ่นเมทัลชีทเหลือใช้ หรือ ไม้เก่าๆต่างๆ
จากนั้นก็เป็นงานปูนครับ ผสมปูนแล้วเทไปที่เสาทุกเสาให้ได้ตามความสูงที่เราเซตไว้ครับ ซึ่งงานนี้บอกเลยว่า ใช้เวลาอยู่ 1วันเต็มๆผสมปูประมาณ4 รอบได้ครับ บอกเลยว่าเหนื่อยมากงานปูนเนี้ย
เมื่อปูนแห้ง วันถัดมาผมก็เริ่มงานด้านบนครับ นั้นก็คือการทำหลังคาเมทัลชีท โดยเริ่มจากการวางคานหลักการ 2 เส้น ใช้เหล็กขนาด 4*2 หนา 2.0
โดยงานนี้ต้องมีผู้ช่วยด้วยนะครับ (ได้น้องชายมาช่วย) จากนั้นก็ไล่เชื่อม
ต่อด้วยวางจันทัน และวางแป จันทันผมใช้ทั้งหมด 5เส้น ห่างกันประมาณ 1.2 เมตร ส่วน แปวางห่างกัน 80 เซน
จากนั้นผมไปซื้อหลังคาเมทัลชีทมา ซึ่งผมซื้อมาตามความยาวของโครงหลังคาเหล็ก ยาวประมาณ 7เมตร โดยหุ้ม PE ด้วยครับกันความร้อน ตกเมตรละ 140 บาท (90+50)
และก็ทำการยกหลังคาเมทัลชีทขึ้นทีละแผ่น ขั้นตอนนี้ผมเสียเวลาไป 2 วันนะครับสำหรับการขึ้นหลังคาเมทัลชีท และต้องมีคนช่วยด้วยนะครับงานนี้ คนเดียวทำไม่ได้ครับ
ขอเพิ่มเติมในส่วนของหลังคาเมทัลชีทนั้นจะเห็นว่ายื่นออกไปเกินกำแพง เพราะบริเวณถนนนั้นเป็นถนนสำหรับเข้าประตูข้างบ้านของผมเองครับ ไม่มีรถผ่านนะครับ
เมื่อผมได้หลังคาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ผมเริ่มมาทำงานในส่วนของโครงสร้างพื้นระเบียง โดยผมจะวางคานหลักสามเส้นใช้เหล็กขนาด 4*2 หนา 2 มิล
จากนั้นวางตงเหล็ก ห่างกันประมาณ 30 เซน ใช้เหล็กขนาด 3*1.5 หนา 1.5 มิล แล้วทำการเชื่อมยึดทุกจุด ทั้งคานกับเสา และ คานกับตงเหล็กด้วย
ต่อมาผมก็มาพิจารณาเรื่องไม้หรือแผ่นพื้นที่จะนำมาใช้ ซึ่งผมก็ไปดูมาหลายอย่างมากๆ เปรียบเทียบทั้งเรื่องราคาเงินในกระเป๋า ความสวยงาม ความชอบของครอบครัวด้วยครับ
มาสรุปว่าไปได้เป็นไม้ที่ไปซื้อที่โรงงานที่มีการนำเข้าตู้คอนเทนเนอร์ แล้วเขาจะมีไม้ที่รองสินค้า หรือรองเครื่องจักรมาครับเป็นไม้
ขนาด หน้ากว้าง 5 นิ้ว หนา 1.5 นิ้ว ยาว แผ่นละ 2.4 เมตร แผ่นละ 50 บาทครับ โดยผมก็ใช้ไม้ทั้งหมด 80 แผ่น ก็ตกราวๆ 4000 บาท ซึ่งราคาถูกกว่า วัสดุชนิดอื่นๆ หลักหมื่นเลยครับ
ซึ่งข้อมูลที่ได้มาเรื่องของไม้อเขาบอกว่าเป็นไม้สนจากต่างประเทศ (อเมริกา)มีการอัดน้ำยา และทำการอบความร้อนมาแล้ว แต่ก็ต้องยอมรับเรื่องการใช้งานนะครับว่า
อาจจะไม่ทนหรือยาวนานเท่าวัสดุชนิดอื่นๆ แต่ด้วยเรื่องราคาแล้ว ผมเลยคิดว่า ใช้ไปก่อน พอมีเงินแล้วค่อยเปลี่ยนก็ได้
เพราะตอนนี้งบมีจำกัดครับ และก็มีหลายๆคนเตือนเรื่องปลวก แต่อย่างที่บอกไปครับว่าไม้นี้อัดน้ำยามาแล้ว ก็น่าจะช่วยได้ระดับนึง แต่ผมก็ได้ซื้อน้ำยาทากันเชื้อราและปลวกมาทาซ้ำด้วยครับก่อนที่จะนำไม้มาวางพื้น
โดยการวางไม้พื้นผมก็เลือกไม้มาวางทีละแผ่นต่อๆกันไป ยิงด้วยสกรูเจาะเหล็กยาว 2นิ้ว ยิงยึดกับตงเหล็ก โดยการเจาะสว่านนำก่อนด้วยนะครับ
ซึงต้องบอกว่าไม้ที่เราได้มานั้น มันก็ไม่ได้ตรงหรือสมบูรณ์ทุกแผ่นก็ต้องเสียเวลาในการเลือกและตัดแต่งอยู่พอสมควรเลยครับ
เมื่อวางไม้พื้นได้ครบก็เริ่มขัดผิวไม้ด้วยเครื่องขัด ที่ขอยืมพี่ที่บริษัทมาครับ เมื่อขัดไปก็ทำให้เห็นผิวไม้ ก็ออกมาสวยดีเหมือนกันครับ
จากนั้นทาน้ำยากันเชื้อราและปลวกก่อน 1รอบ
แล้วทาด้วยสีย้อมไม้ อีก2 รอบครับ (ในรูปด้านบนเพิ่งรอบแรกนะครับ)
ซึ่งขั้นตอนการวางพื้นไม้นี้ผมก็ใช้เวลาประมาณ 3 วันจึงจะเสร็จ ก็จะได้ออกมาตามรูปที่เห็นนะครับ จากทั้งหมดที่ผมได้ทำมานะครับใช้ระยะเวลาประมาณ 1 เดือนเต็มมกว่าจะเสร็จ
แต่เวลาที่ทำจริงนั้นผมใช้ช่วงเวลาวันหยุดในช่วงปีใหม่ที่ผ่านมาและวันหยุดเสาร์อาทิตย์ รวมแล้วประมาณ 15 วันครับ
ส่วนงบประมาณก็ตามที่บอกไปครับ ดูรายละเอียดคราวๆด้านบนได้เลย แต่ตอนนี้ผมได้มีการทำเพิ่มเติมเข้าไปด้วย เช่น
เคาน์เตอร์ระเบียง ,ทำโต๊ะ เก้าอี้จากเศษไม้ที่เหลือ
ทำบันไดขึ้น ทำโคมไฟต่างๆ จากเศษไม้เศษวัสดุเหลือใช้ แนว DIY ครับ เน้นประหยัดใช้ของที่มีอยู่ เป็นสิ่งที่ผมทำเพิ่มเข้าไปครับ ซึ่งจะไม่รวมในค่าใช้จ่ายที่กล่าวมาข้างต้นนะครับ เดี๋ยวจะมาแชร์วันหลังอีกทีนะครับ
ขอบคุณผลงาน รูปภาพ : บ้านทองกวาว